คุณแม่หลายคนที่กำลังตั้งครรภ์ อาจจะตื่นเต้นกับการเฝ้ารอวันที่ลูกน้อยจะได้ลืมตาดูโลกใบใหญ่ แต่หลาย ๆ คนก็ยังไม่รู้ว่า อายุครรภ์ที่เหมาะสมในการคลอดลูกนั้น ควรมีอายุครรภ์เท่าไหร่ และหากไม่ได้คลอดตามที่กำหนด
จะเกิดอันตรายทั้งต่อตัวแม่หรือตัวลูกน้อยหรือไม่ โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ หมายความว่า ทารกพัฒนาเต็มที่แล้วหรือยัง หรือควรรอให้ครบ 40 สัปดาห์ตามกำหนดก่อน วันนี้เราได้หาคำตอบมาให้คุณแม่คลายกังวลใจกันแล้วค่ะ
พัฒนาการทารก อายุครรภ์ 37 สัปดาห์
สำหรับอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ความจริง หากคุณแม่อุ้มท้องมาจนถึงสัปดาห์ใกล้คลอดขนาดนี้แล้ว ทางการแพทย์ก็ได้นับอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นสัปดาห์แรกที่เรียกว่า “ครบกำหนดอายุครรภ์” แล้วล่ะซึ่งตามกำหนดอายุครรภ์โดยทั่วไปแล้ว จะอยู่ที่ 37 สัปดาห์ – 42 สัปดาห์
ดังนั้น หากคุณแม่คลอดในระยะอายุครรภ์อยู่ที่ 37 สัปดาห์ นั่นหมายความว่า ครบอายุกำหนดคลอดแล้ว และลูกน้อยจะปลอดภัย เพราะทารกในวัย 37 สัปดาห์ ทารกจะมีปอดที่แข็งแรง และอวัยวะต่าง ๆ ก็พร้อมสู่การออกมาใช้ชีวิตนอกครรภ์ของคุณแม่แล้ว
ส่วนพัฒนาการของทารกน้อยในท้อง ในช่วงอายุ 37 สัปดาห์นี้ ทารกจะยาว 35 เซนติเมตร และหนักประมาณ 2,900 กรัม มีการพัฒนาของปอด หัวใจ และอวัยวะต่าง ๆ เต็มที่แล้ว และอวัยวะเหล่านี้ก็ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ พร้อมที่จะออกสู่โลกภายนอก
ลูกน้อยเริ่มมีขนตายาว และกระพริบตาได้แล้ว ทั้งช่วงลำคอก็หนาขึ้น ผิวที่เคยเป็นวุ้นออกใส ๆ ก็เริ่มเป็นเนื้อเป็นหนัง มีความอมชมพูมากขึ้น มีน้ำมีนวลมากขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันเองก็มีพัฒนาที่ต่อเนื่องเพื่อพร้อมกับการเผชิญโลกภายนอกของลูกน้อยเช่นกัน
ร่างกายของคุณแม่อายุครรภ์สัปดาห์ที่ 37
ในช่วงใกล้คลอดเช่นนี้ คุณแม่จะเริ่มเดินเหินลำบากขึ้น มีความอุ้ยอ้าย เคลื่อนไหวช้าลง เนื่องจากทารกในครรภ์เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว และในช่วงนี้ ลำตัวของลูกอาจกดทับเส้นประสาทหรือเส้นเลือดบางจุด ทำให้การไหลเวียนสารน้ำในร่างกายไม่คล่องตัว ส่งผลให้คุณแม่มีอาการขาบวม เท้าบวม
อีกอย่างหนึ่งคือ ลูกน้อยจะเริ่มดันกระเพราะอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารของแม่ไม่ค่อยดี อาจจะเกิดกรดไหลย้อน ท้องอืด เรอเปรี้ยว ดังนั้น คุณแม่จึงต้องทานอาหารทีละน้อย ๆ และทานอาหารที่ย่อยง่าย และหมั่นเปลี่ยนท่านั่งบ่อย ๆ ตอนนอน ก็นำหมอนมารองใต้ขา ให้ขายกสูงขึ้นเพื่อลดอาการ และทานไข่ขาวเยอะ ๆ เพราะไข่ขาวมีสารอะบูมิน ซึ่งสามารถช่วยลดบวมได้
สัญญาณใกล้คลอดของคุณแม่
สำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์แล้ว เตรียมใจไว้เลยว่าใกล้คลอดเต็มแก่ โดยสัญญาณเตือนว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้ว มี 4 อาการหลัก ๆ ดังนี้
อาการเจ็บเตือน เป็นอาการที่มดลูกของเรามีการขยายตัว แล้วส่วนนำเริ่มเข้าสู่ช่องเชิงกราน เป็นการเตรียมความพร้อมของปากมดลูกให้อ่อนนุ่มขึ้นโดยจะเริ่มมีอาการเจ็บตัวช่วงปลายไตรมาสที่ 3
ปกติแล้ว ถ้าุณแม่นั่งพักหรือนอนพัก จะดีขึ้น ถ้าไม่ได้มีอาการเจ็บถี่ขั้น แรงขึ้น ก็จะเรียกว่าเจ็บเตือน ซึ่ง ปัจจัยที่ทำให้มีการเจ็บเตือนของครรภ์ หลัก ๆ คือ ยกของหนัก ทำงานหนัก เกร็งกล้ามเนื้อหน้าท้อง หรือมีเพศสัมพันธ์ สิ่งเหล่านี้จะไปกระตุ้นให้เกิดการเจ็บเตือน
ในช่วงใกล้คลอด ศีรษะทารกจะเคลื่อนลงต่ำ ประมาณ 2-4 สัปดาห์ก่อนคลอด และมือเท้าแม่จะบวมมากขึ้น เดินลำบากขึ้น เปนตะคริวมากขึ้นและอาจจะปวดหัวเหน่ามากขึ้น
การมีมูกขาวข้นออกจากช่องคลอด เป็นกลไกทางธรรมชาติที่ป้องกันการติดเชื้อภายนอกเข้าสู่โพรงมดลูก โดยอาจมีเลือดปนออกมาบ้าง ถ้ามีเลือด จะแสดงว่าปากมดลูกขยายเพิ่มขึ้นแล้ว
แม้ว่าช่วงใกล้คลอดทารกจะดิ้นน้อยลง แต่จะต้องดิ้นมากกว่า 10 ครั้งต่อวันเช่นเคย โดยอาจจะดิ้นจากวันละ 15 ครั้งเหลือวันละ 12 ครั้ง และอาจจะดิ้นเบาลงบ้าง
อาการเจ็บจริง เตรียมไปโรงพยาบาล
อาการเจ็บจริง ที่หากคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์มีอาการเหล่านี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที ได้แก่
1.มดลูกปั้น ท้องถี่ขั้น เจ็บมากขึ้น พักแล้วไม่หาย อาการนี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที
2.มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด
3.น้ำคร่ำไหลออกมาเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะรั่วหรือแตกก็ตาม ซึ่งหากเกิดอาการนี้ ต้องรีบไปโรงพยาบาล
เพราะถ้าทารกขาดน้ำคร่ำ อาจทำให้เกิดการขาดออกซิเจน
สรุป
คุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 37 สัปดาห์ ได้คำตอบกันแล้วนะคะ ว่าหากคลอดในช่วงอายุครรภ์เท่านี้ จะถือว่าครบตามกำหนดหรือไม่ สรุปว่า ทางการแพทย์ ได้ให้อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ เป็นอายุครรภ์ที่ครบกำหนด ทารกถือว่าพัฒนาสมบูรณ์ทุกด้านพร้อมแก่การเผชิญโลกภายนอกแล้ว
เพียงแต่เมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ย่างเข้าสู่ 37 สัปดาห์ จะต้องหมั่นสังเกตอาการตัวเองและลูกน้อยอยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยทั้งต่อตัวแม่และทารกน้อย ตามคำแนะนำที่ให้ไว้ด้านบน โดยอาการของคุณแม่ ก็จะมีทั้งเจ็บเตือนและเจ็บจริง ซึ่งมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร ดังนั้น อย่าชะล่าใจ หากไม่แน่ใจว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอาการเจ็บจริงหรือไม่ ก็รีบไปโรงพยาบาลให้เร็วจะดีที่สุด
Write a comment