อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ พร้อมคลอดแล้วหรือยัง ?

อายุครรภ์ 34 สัปดาห์ พร้อมคลอดแล้วหรือยัง ?

คลอด 34 สัปดาห์

วันนี้แอดมินจะมาไขข้อสงสัยสำหรับคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายกันค่ะ อุ้มท้องมาตั้งนานจนท้องโย้ท้องใหญ่จน สัปดาห์ที่ 34 เข้าไปแล้ว นี่คลอดได้รึยังนะ??? ดังนั้นเราต้องมาเรียนรู้กันก่อนนะคะว่า อายุครรภ์ของทารกน้อยที่อยู่ในตัวเรา พออายุที่ 34 สัปดาห์เข้าไปแล้วเนี่ย พัฒนาการร่างกายของทั้งตัวเราและทารกน้อยเป็นเช่นไรแล้วบ้าง

เมื่ออายุครรภ์เข้าสัปดาห์ที่ 34 : การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่คืออะไรบ้าง ?

คลอด 34 สัปดาห์
ขอบคุณที่มาภาพ : freepik

อาการอึดอัดหน้าท้อง

การอุ้มท้องในสัปดาห์นี้ คุณแม่จะเริ่มรู้สึกอึดอัดมากขึ้นกว่าเดิมแล้วค่ะ เพราะท้องเราใหญ่แล้ว 34 สัปดาห์ ก็ราวๆ 8 เดือนนิดๆ พอท้องใหญ่ ก็จะรู้สึกหายใจได้ไม่เต็มปอด มีอาการหายใจถี่เพราะปอดและกระบังลมถูกดันจากมดลูกที่มีสื่งมีชีวิตเล็กๆกำลังขยายใหญ่ขึ้นเบียดอยู่ในร่างกายของเรานั่นเอง

นอนหลับไม่สนิท

รวมทั้งช่วงนี้จะเจอปัญหาการนอนหลับไม่สนิทบ่อยมากค่ะ เพราะว่า เราจะเจอทั้ง การเป็นตะคริว ปวดข้อ ปวดก้นกบ อาการแสบร้อนบริเวณหน้าอก รวมไปถึง ปวดปัสสาวะบ่อยมาก พูดเลยว่า แต่ละคืนกว่าจะผ่านไปได้ ทรมานเอาเรื่องเลยค่ะ

ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง

ตอนเป็นแม่เองนะคะ ทั้งฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงกระทันหัน ทำให้โทรมมากๆ สิวรุม หน้ามัน ปวดก้นกบ นอนหงายไม่ได้เลย หายใจไม่สะดวก ต้องนอนตะแคง รวมทั้งต้องคอยลุกไปฉี่บ่อยมากๆค่ะ

ทั้งนี้ทั้งนั้น อาการพวกนี้มันก็บ่งบอกให้เรารู้สึกได้ว่า เจ้าตัวเล็กที่อยู่ในท้องเราใกล้ที่ออกมาแล้วค่ะ เพราะเขาตัวใหญ่จนร่างกายเราเริ่มจะรับไม่ไหวแล้ว

แนะนำวิธีแก้อาการอึดอัดนอนไม่หลับ

เอ้อแม่มี Trick สำหรับการนอนที่ทำให้รู้สึกหลับได้นานสุดนะคะ นั่นก็คือ นอนตะแคง งอเข่าเล็กน้อย และเอาหมอนมาหนุนรองช่วงล่างตั้งแต่ ท้อง สะโพกไปจนถึงเท้าเลยค่ะ (ส่วนตัวแม่เอง แม่รองตั้งแต่เข่าลงไปค่ะ จะช่วยให้อาการเป็นตะคริวตอนกลางคืนลดน้อยลง แม่พูดเลยตอนเป็นแรกๆน้ำตาซึมเลยค่ะ เจ็บ แฟนก็งงเกิดอะไรขึ้นทำตัวไม่ถูก 555)

ข้อดีของ Trick การนอนแบบด้านบนก็คือ ช่วยให้การไหลเวียนเลือด การย่อยอาหาร และการทำงานของตับและไตมีประสิทธิภาพมากขึ้นค่ะ และจากนี้ไปควรหลีกเลี่ยงการนอนหงายนะคะเพราะอาจทำให้เกิดอาการใจสั่นและอาจทำให้ความดันเลือดต่ำได้ด้วยค่ะ

อาการแสบร้อนกลางหน้าอกคล้ายกรดไหลย้อน

สัปดาห์นี้อาการแสบร้อนกลางอกจะเป็นบ่อยอยู่เหมือนกันนะคะ เพราะกรดไหลย้อนและอาหารไม่ย่อย จะพบได้บ่อย ลองเปลี่ยนมากินอาหารมื้อเล็ก ๆ วันละ 6-7 มื้อแทนการรับประทานมื้อใหญ่แทนค่ะ

บางมื้อคุณแม่อาจไม่รู้สึกหิว แต่จำเป็นต้องรับประทานตามแผนที่วางไว้ พยายามรับประทานอาหารหลายรสชาติ ไม่จำกัดเฉพาะรสชาติที่คุ้นเคยนะคะ ลูกน้อยเริ่มรับรสชาติอาหารผ่านน้ำคร่ำได้แล้วค่ะ ฝึกไว้ก่อนตั้งแต่ตอนนี้จะช่วยทำให้ทารกเต็มใจจะลองรสชาติอาหารที่แตกต่างกันเมื่อพวกเขาโตพอที่รับประทานเองได้

แม่แอบสารภาพว่าตอนแม่ท้อง แม่กินรสจัดมาก จัดจน งง เดี๋ยวก่อน ก่อนท้องเธอยังไม่กินเผ็ดขนาดนี้เลย มันเป็นความอยากแบบต้องสนองอ่ะค่ะ แต่ก็สงสารลูกน้อยในท้องเหมือนกัน ดีนะออกมาปกติดี 555

 

อ้อแล้วก็เมื่อถึงวันนัดพบหมอนะคะ ทารกในท้องอาจจะกลับหัวเตรียมคลอดแล้วก็ได้นะคะใน week นี้ หรือถ้าเด็กยังนอนขวางหรืออยู่ในท่าก้นลงก็ไม่ต้องกังวลไปนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณแม่เคยมีลูกมาก่อน เพราะยังมีเวลาอีกมากที่เด็กจะกลับทิศทางที่ถูกต้องก่อนจะถึงวันคลอดค่ะ

เมื่ออายุครรภ์เข้าสัปดาห์ที่ 34 : การเปลี่ยนแปลงของเด็กน้อยในท้องคืออะไรบ้าง ?

พัฒนาการของลูกน้อยเราในตอนนี้ ตัวใหญ่แล้วค่ะ ส่วนตัวน้องเอง เท่าที่แม่ศึกษามานะคะ ตอนนี้น้องจะมีขนคิ้ว ขนตาขึ้นเต็มเรียบร้อยแล้วค่ะ และเขาบอกว่า วีคนี้ ถ้าลูกเป็นผู้ชาย ลูกอัณฑะของเด็กจะเคลื่อนจากช่วงท้องมาอยู่ในถุงอัณฑะแล้วค่ะ เด็กบางคนมีลูกอัณฑะเคลื่อนลงมาสู่ถุงอัณฑะตั้งแต่แรกเกิด ระดับฮอร์โมนตั้งครรภ์ในตัวคุณแม่จะส่งผลให้ถุงอัณฑะของลูกบวมใหญ่เมื่อแรกเกิด

ถ้าลูกของคุณแม่เป็นลูกสาว อวัยวะเพศของลูกก็มีลักษณะบวมเช่นกันค่ะ แต่จะค่อยๆลดขนาดลงมาเป็นปกติได้ในช่วง 2-3 อาทิตย์แรกหลังคลอดค่ะ

เด็กน้อยของเราตอนนี้ที่ลอยอยู่ในท้องของเรา สามารถ ลืมตาและหลับตาได้แล้วนะคะ เริ่มกระพริบตา กลอกตา และหัดโฟกัสสายตาได้แล้วค่ะ ดังนั้นคุณแม่ต้องคอยระวังเรื่องแสงจ้าที่จะผ่านผนังหน้าท้องของเราเข้าไปกระทบลูกน้อยนะคะ เพื่อป้องกันอันตรายต่อดวงตาของลูกน้อยของเราค่ะ

ตอนนี้ผิวหนังของเรายังมีชั้นไขมันและเส้นขนอ่อนๆปกคลุมเขาอยู่นะคะ ซึ่ง เส้นขนอ่อน ๆ ที่ปกคลุมผิวจะเริ่มหายไปในสัปดาห์นี้ แต่ถ้าลูกคลอดก่อนกำหนดในช่วงสัปดาห์นี้ คุณแม่อาจจะยังคงเห็นขนอ่อน ๆ บริเวณหลัง ไหล่และในหูเล็ก ๆ ของลูกค่ะ

ระยะนี้ฮอร์โมนคอร์ติซอลผลิตมากขึ้น ฮอร์โมนที่ผลิตจากส่วนบนของไตเด็กน้อยนี้ จะกระตุ้นให้ภายในปอดสร้างสารลดแรงตึงผิวในถุงลม เพื่อช่วยกระตุ้นระบบหายใจ เมื่อคลอดออกมาลูกน้อยของเราก็จะสามารถใช้ปอดหายใจได้ด้วยตัวเองในทันทีค่ะ

สรุปอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ พร้อมคลอดแล้วหรือยัง ?

ทีนี้เราพอทราบกันแล้วนะคะว่า ทั้งตัวแม่และเด็กสภาพร่างกายเป็นเช่นไร แล้วสรุปพร้อมคลอดแล้วหรือยังนะ?

คลอด 34 สัปดาห์
ขอบคุณที่มาภาพ : Freepik

นี่เลยค่ะ จริงๆตอน 34 สัปดาห์ลูกน้อยของเราก็เกือบจะสมบูรณ์แบบพร้อมออกมาแล้วค่ะ แต่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดคือ 40 สัปดาห์ค่ะ เพราะหากคลอดตอน 34 สัปดาห์นี้ จะถูกเรียกว่า การคลอดก่อนกำหนด ซึ่งก็คือภาวะปากมดลูกเปิดที่เป็นผลมาจากการหดและขยายตัวของมดลูกในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 34 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งการตั้งครรภ์ปกติจะใช้เวลาประมาณ 37-40 สัปดาห์

โดยการคลอดก่อนกำหนดอาจส่งผลให้มีภาวะแทรกซ้อนทั้งต่อคุณแม่และทารกได้ หลักๆคือเรื่องปอดของทารกยังไม่โตเต็มที่ จึงยังหายใจเองข้างนอกไม่ได้ ทำให้มีภาวะหายใจล้มเหลวได้ จึงเป็นภาวะที่แพทย์มักจะเฝ้าระวังไม่ให้เกิดค่ะ

เป็นยังไงกันบ้างคะ ความรู้อัดแน่น ตื่นเต้นกันแล้วหละสิ อดทนอีกนิดนะคะ อีกแค่ 6 สัปดาห์ เราก็จะได้เจอลูกน้อยกันแล้วค่ะ

คลอดลูกLatest articles in the category