การตั้งท้อง 32 สัปดาห์
ในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 32 นี้ ก็ถือว่าครบกำหนด 8 เดือนแล้วนะคะ ท้องของคุณแม่จะใหญ่มาก เพราะลูกน้อยมีขนาดโตเต็มมดลูกแล้ว ร่างกายของคุณแม่ขยายไปทุกสัดส่วน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดีสำหรับลูกน้อยนะคะ ไม่ต้องกังวลเลยค่ะ
โดยในช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงใกล้คลอดแล้ว ลูกน้อยจะค่อยๆหมุนตัว หรือกลับหัว เพื่อเตรียมการคลอดแบบธรรมชาติค่ะ ซึ่งช่วงหมุนตัวหรือกลับหัวนี้จะเริ่มที่สัปดาห์ที่ 32 เป็นต้นไป แต่จะไม่เกินสัปดาห์ที่ 36 นะคะ
ในช่วงสัปดาห์นี้ลูกน้อยของคุณแม่อาจจะค่อนข้างซน จนคุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกดิ้นแรงมาก จนบางครั้งเห็นเป็นรอยที่ท้องของคุณแม่ได้เลย ว่ากำลังถูกเจ้าตัวน้อยตีเล่นอยู่ในท้องแม่
นอกจากนี้ลูกอาจมีอาการสะอึกด้วย เนื่องจากว่าน้องกำลังฝึกหายใจ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนออกมาเผชิญโลกภายนอกนั่นเองค่ะ
อาการท้องแข็งที่อาจเกิดได้ในการตั้งท้อง 32 สัปดาห์
ท้องแข็งคืออาการที่สามารถพบเจอได้ในการตั้งครรภ์ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 32 คุณแม่บางท่านอาจจะรู้สึกท้องแข็งเป็นบางครั้ง เมื่อมีการฝืนใช้ร่างกายหนัก เช่น อดทนทำงานที่ต้องขยับร่างกายมาก ทำงานที่มีความเครียดมาก รวมไปถึงการทานอาหารที่หนักมากเกินไป
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คุณแม่รู้สึกท้องแข็ง นั่นคือมดลูกบีบตัวค่ะ อย่างที่บอกไปในตอนต้นว่าสัปดาห์นี้ลูกน้อยจะซน ชูแขนขาเต็มพื้นที่ในท้องของคุณแม่ไปซะหมด ทำให้มดลูกถูกกระตุ้น จึงเกิดการบีบตัว ส่งผลให้ท้องแข็งเกร็งได้
หากคุณแม่รู้สึกท้องแข็งเป็นบางช่วง ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ หรือเป็นหนึ่งในอาการที่พบเจอได้ แต่ถ้าคุณแม่มีอาการปวดท้องร่วมด้วย รวมไปถึงปวดหน่วงๆ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้มดลูกเปิดก่อนกำหนดคลอดได้ ดังนั้นหากคุณแม่รู้สึกอึดอัด ทนไม่ไหว หายใจไม่ออก ปวดท้องมาก ควรไปพบแพทย์โดยด่วนค่ะ
วิธีบรรเทาและแก้ไขอาการท้องแข็งในช่วงสัปดาห์ที่ 32
เมื่อทราบสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการท้องแข็งกันไปแล้ว ก็มาถึงวิธีที่จะช่วยบรรเทาอาการท้องแข็ง รวมไปถึงข้อควรปฏิบัติด้วยค่ะ ขอให้คุณแม่รู้ตัวไว้เสมอว่าจะเคยชินกับพฤติกรรมแบบเดิมๆไม่ได้แล้วนะคะ ถ้าไม่อยากท้องแข็ง แนะนำให้ทำตามนี้เลยค่ะ
- การทานอาหารอย่างพอดีและมีประโยชน์ ด้วยความที่มดลูกของคุณแม่ขยายตัวมากขึ้น ทำให้เพิ่มความอึดอัดในท้องให้กับคุณแม่ หากยังฝืนรับประทานอาหารที่มากเกินไป ทานหนักตลอด ก็ทำให้ท้องแข็งได้ค่ะ จึงควรแบ่งมาทานหลายๆมื้อ เป็นมื้อเล็กๆแทนนะคะ
- ห้ามกลั้นปัสสาวะ ลูกน้อยโตขึ้นทุกวัน ทำให้มดลูกขยายตัวไปเบียดกับกระเพาะปัสสาวะ คุณแม่รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องปกตินะคะ ซึ่งถ้าหากคุณแม่ยังฝืนกลั้น ไม่เข้าห้องน้ำ ก็อาจทำให้ท้องแข็งได้เหมือนกันค่ะ
- งดการมีเพศสัมพันธ์และการถูกกระตุ้น โดยข้อนี้ถือว่าค่อนข้างมีผลตรงกับการแข็งตัวของท้อง เพราะเมื่อคุณแม่ถูกกระตุ้นด้วยการมีเพศสัมพันธ์ หรือการสัมผัสต่อจุดที่ไวต่อความรู้สึกแล้วล่ะก็ จะยิ่งทำให้มดลูกของคุณแม่ถูกบีบมากยิ่งขึ้นค่ะ
- งดการบิดขี้เกียจ เพราะท่าบิดขี้เกียจของคุณแม่ จะทำให้มดลูกถูกยกตัวขึ้น ตามท่วงท่าของคุณแม่ ส่งผลให้ช่องท่องเกิดการเปลี่ยนแปลง จึงมีส่วนให้ท้องแข็งขึ้นได้ค่ะ
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ในการตั้งท้อง 32 สัปดาห์
ในช่วงสัปดาห์ที่ 32 นี้ คุณแม่ค่อนข้างใช้ชีวิตลำบาก ไม่ว่าจะลุก เดิน นั่ง นอน ก็ไม่สามารถขยับร่างกายของตัวเองได้เต็มที่เลย บางท่านอาจรู้สึกเครียดและหงุดหงิดง่าย ซึ่งวันนี้เราได้เตรียมคำแนะนำดีๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง ในสัปดาห์นี้ค่ะ
- งดเดิน นั่ง ยืน เป็นเวลานาน พฤติกรรมเหล่านี้จะทำให้คุณแม่เหนื่อยง่าย บอบช้ำ ควรหาเวลาพักผ่อนระหว่างวันเป็นระยะๆ เพื่อไม่ให้ร่างกายรู้สึกตึงเกินไปค่ะ
- เข้านอนให้เป็นเวลา ลูกน้อยของเรามีการหลับและตื่นเป็นเวลานะคะ คุณแม่ก็ควรจะเข้านอนให้เป็นเวลาค่ะ ช่วงนี้คุณแม่อาจจะรู้สึกเครียด ทำให้หลับยาก บางท่านอาจจะเผลองีบหลับระหว่างวัน ทำให้ไม่หลับช่วงกลางคืน อาจจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ หรือหาหมอนรองสำหรับคนท้อง เพื่อช่วยให้หลับสบายและหลับง่ายขึ้นค่ะ
- ทำความเข้าใจกับคู่ชีวิต ช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกอารมณ์แปรปรวนเป็นพิเศษ ควรพูดคุยกับครอบครัวในสิ่งที่คุณแม่กำลังรู้สึกอยู่ เพื่อให้ตัวเองไม่เครียดเกินไป และให้ครอบครัวเข้าใจกันมากขึ้นค่ะ
- เตรียมของสำหรับวันคลอด เป็นอีกหนึ่งข้อที่จะช่วยคลายความกังวลได้ ด้วยการเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่วันนี้เลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นเอกสารที่ต้องใช้ รวมไปถึงของใช้ส่วนตัวของตัวเองและลูกน้อย เมื่อเตรียมล่วงหน้า จะช่วยคลายความกังวลให้กับคุณแม่ได้เยอะเลยค่ะ
สรุปอาการท้องแข็ง ในการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 32
อาการท้องแข็งในสัปดาห์ที่ 32 นี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถพบเจอได้ในช่วงตั้งครรภ์ท้องแก่ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้ท้องแข็งนานค่ะ เป็นสักพักแล้วก็หาย ซึ่งมักจะเกิดขึ้นไม่เกิน 10 ครั้งค่ะ แต่หากเกิดบ่อยกว่านี้ และเกิน 10 นาที อาจเป็นสัญญาณอันตรายได้
หากคุณแม่มีอาการผิดปกติใดๆ หรือมีความรู้สึกอย่างไรในช่วงสัปดาห์นี้ อย่าเก็บไว้คนเดียวนะคะ หากมีโอกาสควรรีบปรึกษาคุณหมอค่ะ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดอันตรายได้กับลูกในท้องค่ะ
โดยเฉพาะความเสี่ยงเรื่องการคลอดก่อนกำหนดค่ะ หากคุณแม่ยังไม่สนใจ หรือไม่ให้ความสำคัญ อาจส่งผลเสียร้ายแรงได้เลย ดังนั้นควรสังเกตร่างกายตัวเองให้ดี และทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดค่ะ
Write a comment