การตั้งครรภ์ได้ผ่านมาถึงครึ่งทางแล้ว เป็นเวลากว่า 20 สัปดาห์หรือประมาณ 5 เดือน คุณแม่คงรู้สึกลำบากในการทำกิจกรรมต่างๆแน่นอนเพราะว่าท้องเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นมาก คุณแม่บางท่านอาจรู้สึกว่าร่างกายของตัวเองขยายออกทั้งตัว จนรู้สึกอึดอัดเลยค่ะ
ขอให้คุณแม่เข้มแข็งไว้นะคะ เนื่องจากเดินทางมาถึงครึ่งทางแล้ว เหลือเพียงไม่เกิน 20 สัปดาห์เท่านั้น คุณแม่ก็จะได้เจอหน้าน้องตัวเล็กแล้ว เราลองมาดูกันค่ะว่าคุณแม่จะเป็นอย่างไรบ้างในสัปดาห์นี้
ร่างกายและอาการของคุณแม่ท้อง 20 สัปดาห์
- เตรียมพร้อมสำหรับหน้าท้องที่ขยายมากยิ่งขึ้น สะดือจะยื่นออกมาข้างนอกมากขึ้น เนื่องจากมดลูกขึ้นมาอยู่สูงในระดับสะดือ ท้องของคุณแม่จะยื่นมาข้างหน้า
- เมื่อท้องใหญ่ขึ้น ส่งผลให้คุณแม่หลังแอ่นมากขึ้น จนเกิดอาการปวดหลังมากกว่าเดิมค่ะ
- มีความเสี่ยงเป็นริดสีดวงทวาร เนื่องจากร่างกายมีการผลิตและสูบฉีดเลือดมากกว่าปกติ โดยฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ก่อน ไม่ว่าจะเป็นเลือดออกตามไรฟัน หรือแม้แต่การเกิดเส้นเลือดขอดค่ะ
- มีแนวโน้มเป็นตะคริว ซึ่งอาจเกิดได้หลายสาเหตุ เช่น การรับน้ำหนักการตั้งครรภ์ การขาดแคลเซียมและแมกนีเซียม, มีฟอสฟอรัสในร่างกายมากเกินไป หรืออาจจะเป็นฮอร์โมนการตั้งครรภ์ก็ได้
- ข้อเท้าและเท้าบวม คุณแม่อาจจะรู้สึกใส่รองเท้าลำบากในช่วงนี้ โดยเฉพาะช่วงเย็นหรือช่วงที่อากาศอุ่น จะมีอาการบวมมากขึ้น
- ใบหน้ามีความเสี่ยงเกิดฝ้าและเกิดรอยด่างดำตามร่างกายไม่ว่าจะเป็นบริเวณหัวนม รักแร้ ขาหนีบ เพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์อีกแล้วค่ะ ที่ส่งผลต่อการสร้างเม็ดสีผิวให้เข้มขึ้น ซึ่งรอยต่างๆเหล่านี้จะเริ่มจางหายไปหลังจากคลอดแล้วค่ะ
- อาการจุกเสียดแน่นท้อง แสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน เป็นเรื่องปกติของคนท้องค่ะ เพราะลำไส้กำลังเคลื่อนตัวช้า ใช้เวลาดูดซึมสารอาหารนาน นอกจากนี้มดลูกยังอยู่ในระดับที่สูงขึ้นด้วย จึงทำให้น้ำย่อยไหลย้อนขึ้นมา
- รับรู้ได้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในท้อง บางครั้งคุณแม่อาจมองว่าเป็นอาการแก๊สในกระเพาะหรือท้องไส้ปั่นป่วน
- เส้นผมและเล็บกำลังแข็งแรง เพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์ ทำให้เลือดสูบฉีดดีทั่วร่างกายค่ะ
การเติบโตของลูกน้อยในท้อง 20 สัปดาห์
ลูกน้อยเริ่มโตเต็มที่แล้วในช่วง 20 สัปดาห์นี้ค่ะ มีใบหน้าเริ่มเด่นชัด เค้าโครงเริ่มแข็งแรง และแยกกันเป็นสัดส่วน มีขนาดเท่ามันหวาน มีน้ำหนักเกือบ 300 กิโลกรัม ขนาดตัวยาวประมาณ 17 เซนติเมตร พัฒนาการของลูกน้อยในสัปดาห์นี้เริ่มชัดเจนมากค่ะ
- ลูกน้อยยังคงฝึกหัดการดูดอยู่ค่ะ และหากนิ้วมือลอยเข้าปากด้วยแล้ว ก็คงหนีไม่พ้นที่จะเป็นหนูน้อยดูดนิ้วโป้งแน่นอนค่ะ
- เส้นประสาทการรับรู้ของลูกเริ่มมีมากขึ้นและพัฒนาชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้รสชาติ การได้ยินเสียง เพราะหูชั้นนอกของลูกน้อยเริ่มสมบูรณ์แบบ
- จากผิวโปร่งแสงที่มองเห็นเส้นเลือดใต้ผิวนั้น ในสัปดาห์นี้ผิวของลูกจะเริ่มชัดขึ้น หนาขึ้น มีชั้นไขมันลักษณะเหมือนเมือกขาวๆคอยปกป้องผิวไว้
- หากคุณแม่มีลูกเป็นผู้หญิง นอกจากการปรากฏของอวัยะเพศแล้ว ภายในร่างกายของลูกน้อยก็เริ่มมีการสร้างมดลูกด้วย
คำแนะนำสำหรับคุณแม่ท้อง 20 สัปดาห์
ในสัปดาห์นี้ขอเน้นที่การดูแลระบบภายในร่างกายเป็นหลักค่ะ เนื่องจากร่างกายของคุณแม่มีการเปลี่ยนแปลงหนักมาก อย่างเช่นกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนเลือด ระบบย่อยอาหาร โดยการทำงานของร่างกายคุณแม่จะเริ่มรวน ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันโรคหรืออาการที่อาจตามมาจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย เราจึงได้เตรียมคำแนะนำและวิธีแก้ไข ดังต่อไปนี้ค่ะ
- ป้องกันอาการตะคริว ด้วยการพยายามขยับข้อเท้า ยืดขา ยกขาขึ้น ระหว่างที่กำลังนั่งอยู่ และหากเกิดอาการตะคริวขึ้นแล้วให้ลองยืดเหยียดขา งอเท้าเข้ามาหาตัว หรือนำน้ำแข็ง แผ่นความเย็นมาประคบก็พอช่วยได้ค่ะ
- หลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน เพื่อลดอาการเท้าบวม หากนั่งอยู่กับที่ก็ให้ลองเตะขาดูบ้างค่ะ เพื่อไม่ให้ขาของเราอยู่ในสภาพเดิมนานเกินไป
- ทาครีมกันแดดเป็นประจำ ในช่วงนี้คุณแม่มีแนวโน้มจะเกิดฝ้าได้ง่ายอยู่แล้วจากฮอร์โมนการตั้งครรภ์ และเพื่อไม่ให้ผิวถูกทำร้ายจากแสงแดดซ้ำอีก คุณแม่จึงควรทาครีมกันแดด และพกร่มเสมอค่ะ แต่หากจะซื้อครีมทาฝ้ามาใช้ ต้องปรึกษาแพทย์ก่อนนะคะ
- การเคี้ยวหมากฝรั่งชนิดไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล หลังมื้ออาหารประมาณครึ่งชั่วโมง จะช่วยเพิ่มการสร้างน้ำลาย เพิ่มตัวช่วยย่อยอาหาร ลดอาการจุกเสียด และหลีกเลี่ยงหมากฝรั่งรสมิ้นต์ เพราะคุณแม่บางท่านอาจจะรู้สึกว่าแสบร้อนกลางอกมากกว่าเดิมค่ะ
- การตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 20 ค่อนข้างเป็นที่นิยมทำการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจสอบเพศของลูกน้อยค่ะ แต่การอัลตร้าซาวด์นี้มีโอกาสบอกผลผิดพลาดได้เหมือนกันนะคะ หรือถ้าลูกน้อยมีท่าทางใช้มือหรือขาปิดในส่วนอวัยวะเพศ คุณแม่ก็อาจจะยังไม่รู้ค่ะ
- แนะนำให้คุณพ่อและคนในครอบครัว เริ่มพูดคุยกับลูกน้อยได้แล้วค่ะ เพราะใบหูของลูกเริ่มสมบูรณ์แล้ว
บทสรุปการตั้งครรภ์ 20 สัปดาห์
การตั้งครรภ์ในสัปดาห์ที่ 20 นี้ ท้องของคุณแม่จะเริ่มใหญ่มาก จนเกิดอาการปวดหลังรวมไปถึงอาการตะคริวที่ขาจะค่อนข้างชัดเจนค่ะ แนะนำว่าอย่ายืนหรือนั่งท่าเดิมนานเกินไป และยืดเหยียดออกกำลังกายบ้าง
คุณแม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดฝ้าได้ง่าย และเกิดรอยด่างดำตามคอ ขาหนีบ หัวนม ในหลายจุด เพราะฮอร์โมนการตั้งครรภ์ แนะนำให้ปกป้องตัวเองจากแสงแดดให้ดีที่สุดค่ะ และผิวจะเริ่มกลับมาดีเหมือนเดิมหลังจากคลอดน้องไปแล้ว
ในช่วงนี้แนะนำให้คุณแม่และคุณพ่อมีปฏิสัมพันธ์กับลูก พูดคุยได้อย่างเต็มที่ เพราะลูกน้อยสามารถได้ยินเสียงจากภายนอกได้ชัดเจนมากขึ้นค่ะ และสัปดาห์นี้เป็นที่นิยมในการอัลตร้าซาวด์เพื่อตรวจสอบเพศของลูกน้อยอีกด้วย
Write a comment