เข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 17 ของการตั้งครรภ์แล้ว ในช่วงนี้คุณแม่หลายท่านเริ่มรู้สึกดีขึ้นแล้ว กลับมาเป็นตัวของตัวเองอีกครั้ง มีความสุขมากขึ้น ไม่เครียดเหมือนช่วงแพ้ท้องที่ผ่านมา ทำให้คุณแม่รู้สึกมีชีวิตชีวาและใช้ชีวิตได้เป็นปกติแล้วค่ะ
เหลืออีกเพียง 23 สัปดาห์เท่านั้น เรียกได้ว่าเกือบถึงครึ่งทางแล้ว โดยปกติกำหนดการคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 40 สัปดาห์ ซึ่งคุณแม่ส่วนใหญ่อาจจะคลอดเร็วกว่านี้สักเล็กน้อย ก็ไม่เป็นไรค่ะ บางท่านอาจจะเริ่มเจ็บท้องเตรียมคลอดตั้งแต่สัปดาห์ที่ 37 ก็ถือว่าปกติค่ะ
อาการของคุณแม่ท้อง 17 สัปดาห์
ในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 17 นี้ ร่างกายของคุณแม่ กำลังเริ่มสร้างความพร้อม เปลี่ยนแปลงร่างกายให้รองรับกับการมีลูกน้อยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายขยายขนาด การคัดเต้านม การสร้างน้ำนม เราลองไปดูกันเลยค่ะว่าสัปดาห์นี้ คุณแม่จะเจอกับอะไรบ้าง
- หัวนมมีสีเข้มหรือคล้ำขึ้น เนื่องจากร่างกายเตรียมพร้อมในการเป็นคุณแม่ หน้าอกขยาย เพื่อผลิตน้ำนม โดยคุณแม่อาจจะสังเกตเห็นบริเวณหัวนมมีตุ่มขึ้นเล็กน้อย หรือมีน้ำนม คราบขาวจุกอยู่บริเวณหัวนม ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ
- ความอยากอาหารเพิ่มขึ้น เป็นสัญญาณที่ชัดเจนของลูกน้อยกำลังเจริญเติบโตและต้องการสารอาหารเพิ่มมากขึ้นค่ะ
- เกิดรอยแตกลาย บริเวณหน้าท้อง, ก้น, สะโพก และหน้าอก คุณแม่บางคนอาจจะรู้สึกภูมิใจกับรอยแตกลายนี้ ที่แสดงถึงความเป็นแม่ แต่บางคนอาจจะรู้สึกไม่อยากพูดถึงมันก็ได้ค่ะ แต่ไม่ต้องเครียดนะคะ ถือเป็นเรื่องปกติ
- อาการปวดหลังที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงบริเวณเอว ปวดร้าวถึงช่วงขา เพราะมดลูกขยายขนาดและกดทับร่างของคุณแม่มากขึ้น
- มีอาการปวดศีรษะ ถือว่าเป็นเรื่องปกติค่ะ เพราะร่างกายเริ่มเปลี่ยนแปลงไป แต่คุณแม่ก็ควรหาทางผ่อนคลายและทำจิตใจให้สบายนะคะ
- เกิดอาการมึนศีรษะหรือจะเป็นลม เนื่องจากช่วงนี้เลือดของคุณแม่จะไหลเวียนไปที่ลูกน้อยหรือการตั้งครรภ์มากขึ้น ทำให้บางครั้งเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอค่ะ
- แสบร้อนกลางอก กรดไหลย้อน อาหารไม่ย่อย ถือเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่อาจจะเจอไปตลอดการตั้งครรภ์จนถึงคลอดลูกเลยค่ะ ดังนั้นพฤติกรรมการกินจึงสำคัญมาก
- เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสายตา หรือมีอาการตาแห้ง อาการนี้จะเป็นสักพักแล้วก็หายค่ะ เมื่อคลอดลูกแล้วจะกลับมาเป็นปกติค่ะ
การเจริญเติบโตของลูกน้อย 17 สัปดาห์
อีกหนึ่งสัปดาห์ที่ลูกน้อยจะเริ่มตัวใหญ่ขึ้น มีขนาดประมาณหัวหอมใหญ่ น้ำหนักตัวเกิน 100 กรัมนิดหน่อย และความยาวประมาณ 13 เซนติเมตรค่ะ
- ลูกน้อยกำลังฝึกหัดการดูดและกลืน เพื่อรองรับการดูดนมแม่หรือขวดนมในอนาคตอันใกล้นี้ค่ะ
- ส่วนหูของลูกน้อยเริ่มมีพัฒนาการใกล้สมบูรณ์แล้ว สามารถได้ยินเสียงของคุณแม่และเสียงรอบๆแล้วค่ะ
- ลูกน้อยมีประสาทการรับรสที่พัฒนาขึ้น ทำให้รับรู้หรือแยกรสชาติได้แล้ว
- ระบบปัสสาวะของลูกสมบูรณ์ พร้อมขับถ่ายของเสียของตนเอง ผ่านสายรก ไปยังคุณแม่
- ระบบไหลเวียนเลือดและปอดสมบูรณ์ พร้อมรับออกซิเจน
- ไขมันเริ่มโอบอุ้มในผิวหนังของลูกน้อยแล้ว ทำให้เริ่มเห็นตัวชัดมากขึ้น อาจจะโปร่งแสงน้อยลง รวมถึงเป็นแหล่งพลังงานและความอบอุ่นให้ด้วยค่ะ
- เริ่มสร้างลายนิ้วมือและลายนิ้วเท้าของตัวเอง
- เริ่มบอกเพศได้ชัดเจนมากขึ้น
คำแนะนำการตั้งท้อง 17 สัปดาห์
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ บางครั้งคุณแม่อาจสับสนว่าตัวเองกำลังหิวหรือว่าแค่กระหายน้ำกันแน่
- ทานอาหารที่มีประโยชน์ และแบ่งทานเป็นมื้อเล็กๆ แต่ทานบ่อยๆค่ะ เมื่อทานเสร็จแล้วควรนั่งสักพัก หลีกเลี่ยงการนอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร
- เมื่อมีอาการแสบร้อนกลางอก อาจจะลองดื่มนมอัลมอนด์หลังอาหาร หรือเมื่อมีอาการค่ะ ได้ของแถมเป็นแคลเซียมเพิ่มด้วย
- ทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์ บริเวณผิวที่แตกลาย หรือบริเวณผิวแห้งคัน เพื่อป้องกันรอยจากการแตกลายและเพิ่มความชุ่มชื้น
- หากปวดศีรษะเพราะความเครียดหรือไมเกรน ให้ลองใช้เวลาอยู่เงียบๆคนเดียว ในห้องมืด ประมาณ 15 นาที หรือหากต้องทำงาน ก็ให้ลองหลับตา ยกเท้าขึ้น หาน้ำแข็งมาประคบบริเวณช่วงคอและไหล่ ประมาณ 20 นาที เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย
- อาการมึนศีรษะเป็นเรื่องปกติในช่วงตั้งครรภ์ แต่คุณแม่ก็ไม่ควรที่จะขับรถ หรือทำงานอะไรที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ และเคลื่อนไหวให้ช้าลง หาโอกาสสูดอากาศบริสุทธิ์บ้าง
- ออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรงอย่างโยคะและพิลาทิส การยืดตัวเพื่อป้องกันและบรรเทาอาการปวดเส้นประสาทไซแอทติก หรือลองใช้แผ่นความร้อนแปะหลังเพื่อบรรเทาอาการปวดค่ะ
บทสรุปการตั้งครรภ์ 17 สัปดาห์
ในการตั้งท้องสัปดาห์ที่ 17 นี้ แน่นอนว่าท้องคุณแม่เริ่มใหญ่ขึ้น อาการปวดหลังร้าวไปถึงขาจะเริ่มชัดเจนขึ้น คุณแม่ควรยืดเหยียดร่างกาย หรือออกกำลังกายเบาๆอย่างโยคะหรือพิลาทิส เพื่อบรรเทาอาการปวด และทำให้กล้ามเนื้อ ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงมากขึ้น
นอกจากนี้คุณแม่จะมีอาการแสบร้อนกลางอก ปวดศีรษะ ผิวหนังแตกลายตามท้อง หน้าอก สะโพก ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติค่ะ แต่ที่น่าเป็นห่วงคืออาการมึนหัว คล้ายจะเป็นลม ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือกิจกรรมอันตราย
ส่วนลูกน้อยขณะนี้ระบบในร่างกายเริ่มสมบูรณ์ สามารถรับรู้รสชาติได้ ได้ยินเสียงชัดเจนมากขึ้น สามารถโบกมือไปมาและกำลังสร้างลายนิ้วมือของตัวเองค่ะ คุณแม่และครอบครัวสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกน้อยได้ชัดเจนมากขึ้นในช่วงนี้
Write a comment