สวัสดีค่าาาเพื่อนๆ วันนี้เราจะมาพูดถึงเรื่องของโรคซึมเศร้า โรคมหานิยมของยุคนี้เลยก็ว่าได้ โรคซึมเศร้าสามารถเกิดได้จากหลากหลายสาเหตุมากมายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล แต่สาเหตุหลักๆก็หนีไม่พ้นความเครียดอยู่ดี
โรคซึมเศร้านั้นเป็นอาการผิดปกติของสารในสมองและจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์ พฤติกรรม และความคิด ซึ่งโรคซึมเศร้านั้นมีด้วยกันถึง 3 ประเภท จะมีประเภทไหนบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ
ประเภทของโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าที่เรารู้จักกันทั่วๆไปจริงๆแล้วมันมีถึง 3 ประเภทด้วยกันซึ่งเกิดจากการผิดปกติของสารในสมอง 3 ชนิด ดังนี้
- โรคซึมเศร้าที่เรียกกันคุ้นหูว่า “ไบโพล่า” ทางการแพทย์เรียกว่า ไบโพล่าดิสออร์เดอร์ จะมีอาการอารมณ์แปรปรวนผิดปกติแต่อาจไม่ใช่ภายใน 1 วัน 10 อารมณ์ แต่มักจะเป็นสลับกันเป็นช่วงๆ บางช่วงอาจอารมณ์ดีผิดปกติ หรืออาจอารมณ์ร้ายผิดปกติโดยไม่รู้สาเหตุ
- โรคซึมเศร้าทั่วๆไป หรือทางการแพทย์เรียกว่า “เมเจอร์ดีเพรสชัน” โรคซึมเศร้าชนิดนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเกิดการสูญเสีย หรือมีสิ่งกระทบจิตใจอย่างรุนแรง การผิดหวังต่างๆ ซึ่งชนิดนี้ถือว่าค่อนข้างรุนแรงควรพบจิตแพทย์และได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
- โรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือทางการแพทย์เรียกว่า “ดิสทีเมีย” ชนิดนี้มักเกิดจากความเครียดสะสม หรือมีเรื่องกระทบจิตใจเล็กๆน้อยๆมีนานนับปี อาจก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าชนิดนี้ได้
และวันนี้สำหรับใครที่กำลังสงสัยว่าคนใกล้ตัวหรือตนเองเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ แล้วคนที่จะเป็นโรคซึมเศร้านั้นมีอาการอย่างไร วันนี้เรามีวิธีสังเกตอาการของคนที่เข้าข่ายจะเป็นโรคซึมเศร้ามาแนะนำเพื่อนๆกัน จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลยค่ะ
9 อาการที่บ่งบอกว่าคุณกำลังเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า
- รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่มีแพชชั่น ไม่มีเป้าหมาย ไม่มีแรงดึงดูดในการใช้ชีวิต
- หงุดหงิด โกรธ โมโหง่ายทั้งๆที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
- เหนื่อย อ่อนเพลีย ไม่มีแรงดูล้าๆไม่อยากทำอะไร
- นอนหลับยาก หลับไม่สนิท หลับๆตื่นๆเหมือนพะวงอะไรตลอดเวลา
- สมาธิสั้น เหม่อลอยสติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว
- เริ่มมีความคิดอยากตาย อยากทำร้ายตัวเอง
- เบื่ออาหาร ทานน้อยและน้ำหนักลดผิดปกติ หรืออีกอาการหนึ่งคือ กินมากกว่าปกติ
- พฤติกรรมการใช้ชีวิตดูอืดๆ เชื่องช้า ไร้แรงขับเคลื่อนในชีวิต
- หมดความสุขในชีวิต อะไรที่เคยทำแล้วสนุกตอนนี้กลับหน้ามือเป็นหลังมือไปหมด
หากใครที่มีอาการตรงตามนี้ 5 ข้อขึ้นไปและมีพฤติกรรมแบบนี้ติดต่อกันนานๆ ให้สงสัยไว้เลยว่าเขานั้นอาจเป็นโรคซึมเศร้าได้ แล้วเมื่อรู้ว่าตนเองหรือคนใกล้ชิด เสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าต้องทำอย่างไร ไปดูกัน!
เมื่อรู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้าจะทำอย่างไรดี
อย่าตื่นตระหนกตกใจไปนะคะเพื่อนๆ สำหรับใครที่สงสัยหรือรู้ตนเองแล้วว่าน่าจะเป็นโรคนี้แน่ๆ อันดับต่อไปที่เราจะต้องทำคือ
- มีสติให้มากๆ ไม่ต้องตกใจไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ โรคนี้สามารถหายได้!!
- เข้าพบจิตแพทย์ ห้ามคิดว่าโรคซึมเศร้านั้นสามารถรักษาหายเองได้เด็ดขาด! อย่างที่บอกไปว่าโรคนี้เกิดจากความผิดปกติของสารในสมองดังนั้นจึงต้องใช้วิธีทางการแพทย์ในการรักษาควบคู่ไปกับสภาวแวดล้อมที่ดี
- รับประทานยาอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์สั่ง ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด! คนที่เป็นโรคนี้หลายคนเมื่อพบแพทย์และกินยาไปสักพักรู้สึกดีขึ้นมักจะเลิกยาเอง ซึ่งไม่ควรทำเด็ดขาดค่ะ
- ดูแลตัวเองอย่างดี อะไรที่ทำให้เรามีความสุขจงทำ หากิจกรรมผ่อนคลายพยายามเลี่ยงความเครียดให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ทำความเข้าใจกับโรคนี้ให้ดี ทั้งตนเองและคนใกล้ชิด พยายามอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีจะสามารถช่วยให้โรคนี้ดีขึ้นได้ในระดับหนึ่งทีเดียว
บทสรุปอาการของโรคซึมเศร้า
สำหรับใครที่กำลังสงสัยคนใกล้ตัวหรือแม้แต่ตนเองว่ากำลังจะเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ ซึ่งวันนี้เราก็ได้แนะนำวิธีสังเกตคนที่เข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าจาก 9 อาการหลักๆที่สามารถบ่งบอกได้ถึงภาวะการเข้าข่ายที่จะเป็น ดังนั้นหากใครสงสัยอยู่ก็ลองสังเกตอาการดูนะคะเพื่อนๆ หากพบว่ามีอาการเข้าข่ายติดต่อกันเป็นระยะเวลามากกว่า 2 อาทิตย์ขอแนะนำให้เข้าพบจิตแพทย์เลยน้าา
Write a comment