คุณแม่อายุครรภ์ 8 เดือน ตอนนี้เริ่มนับถอยหลังวันที่ลูกน้อยจะลืมตาออกมาดูโลกกันแล้วใช่ไหมล่ะคะ โดยช่วงนี้จะเริ่มเป็นช่วงที่ทารกมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าเตรียมพร้อมที่จะคลอดได้ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเข้าเดือนที่ 8 แล้วทารกในครรภ์จะเริ่มมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการปัสสาวะของทารกที่จะบ่อยครั้งมากขึ้น ส่งผลให้ถุงน้ำคร่ำมีขนาดใหญ่มากขึ้นไปอีก
ช่วงเดือนที่ 8 ของการตั้งครรภ์จะเริ่มเป็นช่วงที่คุณแม่ขยับตัวไม่สะดวก รู้สึกอุ้ยอ้าย นอนไม่หลับ เพราะหน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น และทารกในท้องที่มีขนาดตัวเพิ่มขึ้น วันนี้เราเลยจะพาคุณแม่มารู้จักกับพัฒนาการของลูกน้อยครรภ์วัย 8 เดือนพร้อมกับเทคนิคการนอนง่าย ๆ ที่จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้สบายยิ่งขึ้น จะมีอะไรบ้างนั้น มาดูกันค่ะ
พัฒนาการทารกในครรภ์วัย 8 เดือน
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 47 เซนติเมตร และควรมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 2.6 กิโลกรัม โดยร่างกายของลูกน้อยในครรภ์เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากท้องแม่ โดยเริ่มมีขนตา คิ้ว เส้นผม ที่เห็นได้ชัด
คุณแม่จะได้รู้แล้วว่าหน้าตาของลูกน้อยในครรภ์นั้นเป็นอย่างไร รอยเหี่ยวย่นบนผิวน้ำเริ่มลดลง สมองเริ่มมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ สามารถรับรส แสง กลิ่น เสียง และความเจ็บปวดได้แล้ว
โดยในช่วง เดือนที่ 8 การพูดคุยกับทารกในครรภ์ รวมถึงการทานอาหารที่มีประโยชน์ จะช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการในครรภ์ที่รวดเร็ว และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
การเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ ครรภ์ 8 เดือน
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ร่างกายของคุณแม่จะเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงให้พร้อมต่อการคลอดทารกในครรภ์ โดยช่วงนี้ แพทย์จะเริ่มทำการนัดพบคุณแม่บ่อยขึ้น เพื่อตรวจเช็กร่างกายทั้งคุณแม่และลูกน้อย พร้อม ๆ กับคอยสังเกตสัญญาณต่าง ๆ ในร่างกาย โดยจะมีอาการที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังต่อไปนี้
- ท้อง 8 เดือนมีอาการหายใจติดขัด หายใจไม่เต็มปอด
เมื่อคุณแม่ตั้งท้องเข้าสู่เดือนที่ 8 มดลูกจะเริ่มมีการบีบตัวมากขึ้น จนทำให้ยอดมดลูกสูงจนขึ้นไปเบียด และกดทับกะบังลม ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกอึดอัด และหายใจไม่สะดวกอย่างที่เคยเป็น - ท้อง 8 เดือนมีอาการเจ็บอวัยวะเพศ และหัวหน่าว
เนื่องจากทารกในครรภ์เริ่มมีการกลับศีรษะ ทำให้หัวของทารกไปกดทับเส้นประสาทบริเวณอุ้งเชิงกรานของคุณแม่ ส่งผลให้เกิดอาการปวดขึ้น คุณแม่ไม่ควรออกกำลังกาย หรือทำงานหนัก พักผ่อนให้เพียง และหากอาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้พบแพทย์ - ท้อง 8 เดือนมีอาการท้องแข็ง
อาจจะเกิดจากการที่ลูกน้อยมีการขยับตัว หรือการที่เลือดมาเลี้ยงมดลูกน้อยลง ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกขาดเลือด ซึ่งหากคุณแม่มีอาการท้องแข็ง หรือปวดท้องมากจนผิดปกติ อาจจะเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนการคลอดก็เป็นได้ค่ะ - ท้อง 8 เดือนมีอาการมือเท้าบวม
ช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่อาจจะมีอาการบวมตามนิ้วมือ นิ้วเท้า รวมถึงบวมบริเวณขา โดยมักจะเกิดในช่วงตอนเย็นของทุกวัน และในวันที่มีอากาศร้อนเป็นพิเศษ แต่อย่างไรก็ตามหากมีอาการบวม พร้อมกับอาการอย่างอื่น เช่น คลื่นไส้ ให้พบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจจะเป็นสัญญาณของครรภ์เป็นพิษ ก็เป็นได้
5 เทคนิคคุณแม่หลับสนิท หายห่วง
สำหรับคุณแม่ที่ตั้งท้องเข้าช่วงเดือนที่ 8 นั้น มักจะพบกับปัญหานอนไม่หลับ หลับไม่สนิท อันเนื่องมาจากความอึดอัดของหน้าท้องที่มีขนาดใหญ่ขึ้น รวมทั้งความกังวลใจก่อนที่จะคลอด วันนี้ เราเลยจะมาแนะนำให้คุณแม่ใกล้คลอด นอนหลับสนิท หายห่วง โดยมีเคล็ดลับ ต่อไปนี้ค่ะ
- ท้อง 8 เดือนควรเลือกท่านอนที่เหมาะสม
เมื่ออายุครรภ์เพิ่มมากขึ้น หน้าท้องมีขนาดใหญ่ แนะนำให้คุณแม่เลือกที่จะนอนตะแคง และหาหมอนรองขาไว้เล็กน้อย ให้ร่างกายรู้สึกสบายมากยิ่งขึ้น - ท้อง 8 เดือนควรหาเวลางีบหลับระหว่างวัน หากคุณแม่รู้สึกว่านอนไม่เต็มอิ่ม หรือพักผ่อนไม่เพียงพอ แนะนำให้หาเวลางีบระหว่างวัน โดยไม่ควรนอนยาวเกิน 30 นาที
- ท้อง 8 เดือนไม่ควรกินอาหารหนักเกินไปก่อนนอน หากมีอาการหิวตอนกลางคืนหรือใกล้จะเข้านอน ควรดื่มเพียงนมอุ่น ๆ หรือผลไม้เบา ๆ ก่อน 1-2 ชั่วโมง ก่อนนอน
- ท้อง 8 เดือนควรงดใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอน เช่นโทรศัพท์มือถือ เพราะจะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว และนอนไม่หลับ
- ท้อง 8 เดือนควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม เพื่อให้คุณแม่รู้สึกสบายตัว และนอนหลับได้ดีมากยิ่งขึ้น
ท้อง 8 เดือนอันตรายไหม
เมื่อเข้าสู่เดือนที่ 8 แล้ว เรียกได้ว่าเป็นโค้งสุดท้ายของการบำรุง และดูแลลูกน้อยในครรภ์แล้วค่ะ สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องกังวลใจมากที่สุดตอนนี้อาจจะเป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมในการคลอด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ
แต่ทั้งนี้คุณแม่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้นะคะ เพราะอาจจะเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ หรือโรคแทรกซ้อนได้ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงทั้งคุณแม่ และทารกในครรภ์
Write a comment