ประจำเดือนมาไม่ปกติ เราท้องหรือยังนะ? คำถามที่สาว ๆ หลายคนมักจะสงสัยเวลาประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมาไม่ตรงรอบ รวมไปถึงการที่ประจำเดือนไม่มา ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจจะมีหลายสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ การตั้งครรภ์เองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุนั้น
ในปัจจุบัน เราสามารถตรวจสอบการตั้งครรภ์ของตนเองได้อย่างง่ายดาย และสะดวก ผ่านการซื้อชุดทดสอบการตั้งครรภ์ มาใช้ในการตรวจสอบด้วยตัวเอง ซึ่งจริง ๆ แล้ว อายุครรภ์เองก็มีผลในการตรวจสอบเช่นกัน ซึ่งหากอายุครรภ์ไม่มากพอ
ผลในชุดตรวจก็อาจจะไม่สามารถบอกได้ว่าขณะนี้มีการตั้งครรภ์อยู่ เพราะฉะนั้นวันนี้ เราจะมาแนะนำวิธี และระยะเวลาการทดสอบการตั้งครรภ์ที่เหมาะสม และอาการตั้งครรภ์ระยะแรกว่าเป็นอย่างไร มาดูกันค่ะ
ตรวจครรภ์เมื่อไหร่ดีนะ
สำหรับสาว ๆ ที่กำลังสงสัยว่าตัวเองตั้งครรภ์อยู่ไหม ท้องจริงหรือเปล่า หรือแค่ตรวจไม่เจอ หรือสารพันคำถามมากมายเกี่ยวกับ การตรวจครรภ์ ว่าควรตรวจเมื่อไหร่ ถึงจะเหมาะสม
ถึงจะตรวจเจอว่าตั้งครรภ์ ซึ่งหลาย ๆ คนอาจจะคิดว่าท้อง 1 สัปดาห์คงตรวจไม่เจอ หรือเผื่อระยะเวลาออกไปหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายอีก 2-3 สัปดาห์
อย่างไรก็ตาม สำหรับการตรวจครรภ์ เร็วที่สุดคือหลังช่วงเวลาไข่ตก ซึ่งหลาย ๆ คนไม่ทราบช่วงเวลาไข่ตกของตนเอง
ดังนั้น แพทย์จึงแนะนำให้นับจากวันที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายออกไป 15 วัน จึงจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจครรภ์ ด้วยการเจาะเลือด
หากตรวจการตั้งครรภ์ด้วยปัสสาวะ แนะนำให้นับเพิ่มไปอีก 20 วัน จากวันที่มีเพศสัมพันธ์วันสุดท้าย เพื่อให้แน่ใจว่าตั้งครรภ์จริงหรือไม่?
ตั้งท้อง 1 สัปดาห์ตรวจเจอไหม?
สำหรับการตั้งท้อง 1 สัปดาห์ หรือเพียงแค่ 7 วันเท่านั้น การตรวจด้วยปัสสาวะมักจะไม่เจอ เพราะฮอร์โมนที่เรียกว่าเบต้า เอชซีจี ยังไม่เข้มข้นพอที่จะตรวจเจอ ในระยะ 8-10 วัน
การตรวจครรภ์ด้วยการเจาะเลือดอาจจะสามารถตรวจเจอ ในขณะที่การตรวจครรภ์ผ่านปัสสาวะ ควรทำหลังจากการตั้งท้อง 15 วันขึ้นไป จึงจะตรวจพบนั่นเอง
อาการแรกเริ่มเมื่อมีการตั้งครรภ์
ในเบื้องต้นหากสาว ๆ บางคนที่อายุครรภ์ยังไม่ถึง และยังตรวจไม่เจอ ว่าตนเองตั้งครรภ์นั้น แนะนำให้คอยสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ที่เกิดขึ้น เพราะอาจจะเป็นสัญญาณบอกถึงการตั้งครรภ์ในระยะแรกก็เป็นได้ โดยมักจะมีอาการดังต่อไปนี้
- ประจำเดือนขาด หรือประจำเดือนไม่มา
ซึ่งบางครั้งอาจจะเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น เครียด หรือไม่สบาย - ปัสสาวะบ่อย และมีสีเข้ม
เกิดการการที่มดลูกขยายออกจนไปเบียดกระเพาะปัสสาวะให้มีขนาดเล็กลง รวมถึงฮอร์โมนที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีการอุดตันของเลือดบริเวณเชิงกราน ที่ไปหล่อเลี้ยงตัวอ่อนมากขึ้นให้กระเพาะปัสสาวะระคายเคือง และมีการบีบตัวบ่อยมากขึ้น จนส่งผลให้ปวดปัสสาวะ และทำให้ต้องเข้าห้องน้ำอยู่บ่อยๆ
- คัดเต้านม
เกิดการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เต้านมใหญ่ขึ้น หากมีการสัมผัส หรือกดลงก็จะมีอาการเจ็บ เนื่องจากการเจริญเติบโตของต่อมน้ำนม และเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงขยายใหญ่ขึ้นเริ่มมีเส้นเลือดสีดำ ๆ เขียว ๆ ปรากฏขึ้นบริเวณรอบเต้านม หัวนมเริ่มมีสีคล้ำ
- มีอาการท้องผูก
ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์ เพราะการขยายตัวของมดลูกจึงอาจไปทับลำไส้ใหญ่ ทำให้เกิดอาการท้องผูกขึ้น - มีตกขาว
การมีตกขาวกับผู้หญิงตั้งท้องนั้นเป็นของคู่กัน เพราะขณะที่ร่างกายมีการตั้งครรภ์นั้น ต่อมต่าง ๆ ในมดลูกทำงานหนักมากขึ้น ส่งผลให้มีน้ำไหลออกจากช่องคลอดมากยิ่งขึ้นและเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นปกติ ส่งผลให้เซลล์ออกมาเป็นตกขาว ซึ่งช่วงท้ายของการตั้งครรภ์จะสังเกตเห็นได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
- เหนื่อยง่าย มีอาการง่วงอยู่ตลอดเวลา
เพราะฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในร่างกาย ทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย เป็นพิเศษ - เป็นกรดไหลย้อน
เป็นปกติของผู้หญิงมีครรภ์ทุกคนที่มักจะเป็น กรดไหลย้อน เพราะฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นทำให้หูรูดหลอดอาหารอ่อนแอลง ส่งผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน ซึ่งหากพบในขณะอายุครรภ์มากแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อรักษา
- อารมณ์แปรปรวนง่าย
อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ไม่คงที่ ซึ่งอาจจะส่งผลไปถึงความชอบ หรือไม่ชอบสิ่งของต่าง ๆ รอบตัว
สรุปตั้งท้อง 1 สัปดาห์ตรวจเจอไหมนะ
จริง ๆ แล้วการตรวจสอบการตั้งครรภ์ในขณะที่ท้องได้เพียง 1 สัปดาห์นั้น ไม่สามารถตรวจพบได้ว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แต่อย่างที่กล่าวไปขั้นต้น ว่าสาว ๆ สามารถสังเกตตัวเองว่ามีอาการคล้ายกับคนท้องในระยะเริ่มต้นหรือไม่
ซึ่งหากมีอาการตามที่กล่าวมานั้น ก็อาจจะสันนิษฐานได้ว่าตั้งครรภ์ แต่อย่างไรก็ตาม ควรตรวจให้แน่ใจเมื่ออายุครรภ์ 2 สัปดาห์ และทำการฝากครรภ์กับคุณหมอให้เรียบร้อย เพื่อสุขภาพที่ดีของทั้งคุณแม่ และลูกในท้องนะคะ
Write a comment