ในที่สุดการตั้งครรภ์ก็ดำเนินมาถึง 31 สัปดาห์กันแล้ว คุณแม่ท่านใดกำลังยิ้มแก้มปริอยู่ขอให้ยกมือขึ้น หลังจากผ่านช่วงเวลามีเจ้าตัวน้อยในครรภ์มาถึง 7 เดือน ทั้งร่างกายและจิตใจของคุณแม่ก็คงจะพัฒนาขึ้นเช่นเดียวกับพัฒนาการของลูก
ในบทความนี้เราจะไม่รอช้าแต่จะพาว่าที่คุณแม่ทุกท่านไปรู้ทุกอย่างที่ควรรู้เหมือนกับสุภาษิตไทยที่ว่ารู้ก่อนได้เปรียบ! ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงของคุณแม่ ของลูกหรือสิ่งที่ควรทำ รับรองว่าที่นี่มีครบทั้งหมด จะมีอะไรบ้างตามไปอ่านด้านล่างกันเลย
#6 อาการสำคัญที่มักเกิดขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์
1. ในสัปดาห์นี้และยิ่งมากสัปดาห์ขึ้นไปอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจได้ไม่เต็มที่จะยังคงอยู่เช่นเดิม เนื่องจากขยายของท้องโตขึ้นทำให้มดลูกดันกระบังลม ซึ่งจะทำให้คุณแม่รู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าคนทั่วไป การเคลื่อนไหวเองก็เป็นไปอย่างลำบาก
2. คุณแม่จะมีอาการเล็บแห้งเปราะและเล็บยาวเร็ว สามารถแก้ปัญหานี้ด้วยการทาแฮนด์ครีม ทาโลชั่นหรือไปทำสปามือเพื่อช่วยผ่อนคลายอีกต่อก็ยังได้
3. ในบางรายคุณแม่จะมีอาการเจ็บท้อง หรือภาษาชาวบ้านเรียกอาการเจ็บเตือน อาการเจ็บหลอก โดยคุณแม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ ไม่ค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป
4. เริ่มมีน้ำนมไหล โดยน้ำนมที่ออกมาจะมีลักษณะเป็นสีเหลืองหรือที่เรียกกันว่าน้ำนมเหลือง เป็นน้ำนมที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์และภูมิคุ้มกัน ในตอนนี้คุณแม่จึงควรเตรียมเสื้อชั้นในที่ใช้สำหรับให้นมบุตรได้แล้วนะคะ
5. มีอาการปัสสาวะบ่อยขึ้น เนื่องจากกระเพาะปัสสาวะของคุณแม่ถูกเบียดโดยมดลูกและฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น ข้อควรระวังที่สำคัญคือ คุณแม่ไม่ควรอั้นเด็ดขาด เพราะอาจติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะได้
6. มีอาการปวดหลังและปัญหาด้านการนอนหลับ คุณแม่จึงควรหาหมอนที่ออกแบบมาเพื่อช่วยซัพพอร์ตหญิงตั้งครรภ์ รวมถึงควรหาอะไรที่ช่วยผ่อนคลายทำ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดื่มนมอุ่นเพื่อให้หลับสบายขึ้น
อารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ที่ควรระวัง!
ในช่วงตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ คุณแม่บางท่านจะเริ่มวิตกกังวล หวาดกลัวจนไปถึงขั้นแพนิคเรื่องคลอดลูก โดยจะมีฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดอาการเครียด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพถ้าหากว่าปล่อยปละละเลย คุณแม่จึงควรปรึกษาคนที่ไว้ใจ คนในครอบครัวหรือแพทย์ที่ดูแลครรภ์อยู่นะคะ ไม่ควรเก็บไว้คิดมากคนเดียว
#2 พัฒนาการสำคัญของลูกช่วงตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์
1. สมองและเส้นประสาทของลูกจะมีการพัฒนามากขึ้นจากการนอนหลับลึกหรือ REM (rapid Eye Movement) ทำให้เกิดการเชื่อมโยงของข่ายประสาทอย่างมีประสิทธิภาพ
2. ลูกสามารถรับรู้ได้ถึงเสียงพูดคุยของพ่อแม่ เสียงอื่นๆที่เกิดขึ้นรอบตัว รับรู้ถึงแสง รับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของแม่และสิ่งอื่นๆ
#5 คำแนะนำที่คุณแม่ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์ควรรู้
1. อย่าลืมไปพบแพทย์ผดุงครรภ์ทุกครั้ง เนื่องจากตอนนี้การตั้งครรภ์อยู่ในช่วงท้ายๆแล้ว เพื่อเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจึงควรติดตามนัดอยู่เสมอ
2. คุณแม่ควรรับประทานธัญพืชและถั่วให้มากขึ้น รวมถึงลดอาหารที่เป็นไขมัน เช่น เนย มาการีน
3. คุณแม่ควรเปลี่ยนอิริยาบถ ไม่ควรค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไปเพื่อป้องกันการเกิดการบวมที่ขาและเท้ามากขึ้น
4. คุณแม่ควรออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นการเต้นของหัวใจที่จะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น เช่น การเดินออกกำลังกาย
5. คุณแม่ควรสังเกตพฤติกรรมของลูกในท้อง เพื่อที่จะเฝ้าระวังหากการเคลื่อนไหวของลูกลดลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย หากเกิดเหตุการณ์ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วนค่ะ
บทสรุป ตั้งครรภ์ 31 สัปดาห์
เนื่องจากมาเกินครึ่งทางแล้ว ตอนนี้การสังเกตอาการของลูกในท้องและการแบกรับภาระอย่างหนักของร่างกายคุณแม่จึงเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับสภาพจิตใจของคุณแม่ที่อาจจะเกิดความวิตกกังวลมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรอดชีวิตของลูก การคลอดหรือแม้แต่การเลี้ยงดู ดังนั้นจึงควรผ่อนคลายให้มาก ครอบครัวก็ควรดูแลกันและให้มากขึ้น อย่าปล่อยให้คุณแม่ต้องคิดเยอะนะคะ
Write a comment