สวัสดีค่า วันนี้แม่ขอรับบทเปิดคลาสอีกแล้วนะคะ ในบทความที่แล้วแม่ได้เปิดคลาส ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ 5# สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม สำหรับคุณแม่มือใหม่ 101 (ฉบับอัพเดท 2021) ย้อนอ่านคลิก
วันนี้แม่จะมาลงลึกถึงสิทธิในการลาคลอด ว่าจะได้อะไรบ้าง ไม่ว่าจะสำหรับคุณแม่มือใหม่ หรือคุณพ่อมือใหม่กันเลยค่ะ
สิทธิในการลาคลอด
อย่างที่แจ้งไปในบทความที่แล้วนะคะ ว่าหากเราอยู่ในระบบประกันสังคม เราจะได้รับสิทธิประโยชน์มากมาย เพื่อสนับสนุนให้แม่ๆทั้งหลายมีเวลาเตรียมตัวเป็นคุณแม่ได้อย่างเต็มตัวเพื่อดูแลลูกน้อย ทั้งก่อนและหลังคลอด ได้อย่างอุ่นใจมากขึ้น ลองมาดูกันว่า สิทธิประโยชน์ที่คุณจะได้รับจากภาครัฐและเอกชนในช่วงลาคลอดมีอะไรบ้าง
สิทธิในการลาคลอด มีประโยชน์อะไรบ้าง
แม่บอกเลยว่า สิทธิในการลาคลอดคือที่สุดค่ะ คิดดูว่าสมมุติเราไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เมื่อเราท้อง เราจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ใดๆเลยที่เคยกล่าวในบทความที่แล้ว ลางานก็อาจจะไม่ได้ลาเต็มจำนวนตามสิทธิของประกันสังคม เผลอๆบางที ต้องเลี้ยงลูกไปด้วย ทำงานไปด้วย ในช่วง 3 เดือนแรก นั่นอาจจะทำให้คุณแม่มือใหม่ทั้งหลาย เครียดสะสมกว่าเดิม เพราะต้องทุ่มเททั้งงานและลูกน้อย
แล้วยิ่งเป็นคุณแม่มือใหม่ มีลูกคนแรก เราต้องมาเรียนรู้การเป็นแม่ ทำความคุ้นเคยกับลูก ตั้งแต่ การดูแล การให้นม สร้างความสัมพันธ์ แม่บอกเลย เหนื่อยแต่มีความสุขมากๆ กับการได้ทุ่มเทให้เจ้าตัวน้อยนี้ค่ะ ช่วงแรกๆเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งที่คุณจะได้ใช้เวลากับลูกน้อยคนใหม่ ดังนั้น จึงควรใช้โอกาสนี้อย่างเต็มที่ อย่าปล่อยให้ช่วงเวลาดีๆเหล่านี้สูญเสียไปกันนะคะ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นวันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่าแต่ละอาชีพ ได้สิทธิในการลาคลอดแบบไหนบ้าง
สิทธิประโยชน์ในการลาคลอด แต่ละสายอาชีพแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานรับราชการ
คุณแม่ที่ทำงานรับราชการ สามารถได้รับสิทธิในการลาคลอดได้เต็มจำนวน ถึง 98 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ โดยสามารถรับเงินเดือนได้ตามปกติ โดย 45 วันรับจากส่วนราชการ และอีก 45 วัน รับจากสำนักงานประกันสังคม พร้อมมีสิทธิ์ลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 150 วันทำการ โดยไม่รับเงินเดือน
นอกจากนี้ ยังสามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท โดยไม่รวมค่ารักษาพยาบาลซึ่งเบิกแยกเป็นกรณีพิเศษได้ พร้อมยังได้รับเงินสวัสดิการสำหรับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายเดือนละ 50 บาทต่อบุตร 1 คน แต่ไม่เกิน 3 คน จนกว่าบุตรจะมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์
หมายเหตุ: กรุณาตรวจสอบสวัสดิการเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ท่านสังกัดอยู่นะคะ
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานในบริษัทเอกชน
คุณแม่ที่ทำงานเอกชนก็มีสิทธิ์ลาคลอดได้ 98 วัน โดยไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์เช่นกัน ส่วนค่าใช้จ่าย ตามกฎหมายแล้วทางบริษัทจะต้องทำบัตรประกันสังคมให้พนักงานทุกคน ดังนั้นแม่ๆสามารถใช้บัตรนี้ไปเบิกค่าใช้จ่ายตามระเบียบของบัตรได้เลย อย่างที่แม่เล่าให้ฟังในบทความที่แล้วค่ะ ประสบการณ์ตรง ตอนนอนรอคลอดในโรงพยาบาล ทางโรงพยาบาลก็จะเอาเอกสารมาให้เรากรอก เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลยค่ะ ทางโรงพยาบาลดำเนินการให้หมดเลย แล้วพอเราออกจาก รพ. ได้ 2-3 วัน ก็มีเงินเข้าบัญชีมาแล้วค่ะ เงินนั้นก็คือ ค่าทำคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายครั้งละ 15,000 บาท รวมกับ เงินเดือนที่จะได้รับการช่วยเหลือ โดยนายจ้างจะจ่ายค่าจ้างให้ 45 วัน และ อีก 45 วัน ประกันสังคมจะจ่ายให้ค่ะ
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานในบริษัทรัฐวิสาหกิจ
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานในรัฐวิสาหกิจ ได้สิทธิจากประกันสังคมเหมือนคนที่อยู่เอกชนเลยค่ะ และได้เพิ่มอีกคือ สามารถเบิกเงินช่วยเหลือการคลอดบุตรได้ครั้งละ 400 บาท ไม่รวมค่ารักษาพยาบาล
โดยส่วนนี้คุณแม่เบิกค่าใช้จ่ายได้ตามระเบียบของพนักงานรัฐวิสาหกิจได้เลยนะคะ รวมทั้ง ได้รับเงินช่วยเหลือบุตรเพิ่มอีก 50 บาท ต่อคนต่อเดือน พร้อมสิทธิ์ลาคลอดได้ 60 วันโดยรับเงินเดือนตามปกติ และลากิจเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ไม่เกิน 30 วัน โดยไม่ได้รับเงินเดือนค่ะ
หมายเหตุ: กรุณาตรวจสอบสวัสดิการเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่ท่านสังกัดอยู่นะคะ
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานอาชีพอิสระ
สำหรับคุณแม่ที่ทำงานอาชีพอิสระไม่ต้องน้อยใจนะคะ คุณแม่ก็สามารถมีสวัสดิการรัฐได้เช่นกันค่ะ นั่นก็คือ บริการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคนะคะ
คุณพ่อลาคลอดได้มั้ย??
เห็นหัวข้อแล้วอย่าเพิ่ง งง กันไปนะคะ ฮ่าๆ คุณพ่อลาคลอด ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อลาไปคลอดลูกนะคะ แต่หมายถึง คุณพ่อลางานเพื่อไปช่วยดูแลลูกน้อยและคุณแม่นั่นเองค่า
ในต่างประเทศ ทั้งคุณแม่และคุณพ่อมือใหม่ มักจะได้รับสิทธิลาคลอด เพื่อให้ทั้งคู่สามารถช่วยกันเลี้ยงดู ทำความรู้จัก และเรียนรู้การดูแลลูกน้อยร่วมกันค่ะ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศไอซ์แลนด์ แดนเหนือนั่นเองค่ะ ที่มี กฏหมายให้คุณพ่อสามารถลางานในช่วงวันคลอดของภรรยาได้ถึง 3 เดือน ซึ่งงานวิจัยของประเทศไอซ์แลนด์ มีผลออกมาว่า การที่คุณพ่อสามารถลางานมาช่วยคุณแม่ดูแลลูก ทำให้คุณแม่สามารถฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจได้เร็วกว่าปกติ และเป็นผลดีกับคุณแม่ให้สามารถกลับไปทำงานได้เร็วขึ้นด้วยค่ะ
ยังไม่พอนะคะ องค์กรอนามัยโลก ยังกล่าวอีกว่าคุณพ่อประเทศไอซ์แลนด์ เป็นคุณพ่อที่สุดยอดมาก เพราะ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกมากๆ เนื่องจาก ผลของการลางานที่ยาวนานถึง 3 เดือน ทำให้ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน แน่นแฟ้น และ อบอุ่นค่ะ
กลับมาดูประเทศเราบ้าง แล้วประเทศไทยเรามีสวัสดิการสำหรับคุณพ่อบ้างมั้ยนะ แม่ไปหาข้อมูลมาให้แล้วค่า นั่นก็คือ คุณพ่อสามารถที่จะลางานเพื่อไปช่วยเลี้ยงดูบุตรได้จำนวน 15 วัน แต่บังคับใช้เฉพาะในส่วนของภาคราชการนะคะ ภาคเอกชน ยังไม่ได้บังคับใช้
แต่แว่วๆว่าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 63 ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลร่วมกับองค์กรเอกชน จำนวน 27 องค์กร ได้ร่วมกันประกาศว่าต้องการส่งเสริมสิทธิการเลี้ยงดูบุตรทั้งของคุณพ่อและคุณแม่เพิ่มขึ้นอีก
นั่นก็คือ จะเพิ่มวันลาคลอดเพิ่มขึ้น ของฝั่งคุณแม่ จาก 98 วัน เป็น 120 วัน ส่วนสำหรับคุณพ่อ ปกติแล้วจะบังคับใช้เฉพาะภาคราชการ แต่เมื่อมีการร่วมกับภาคเอกชน แปลว่าต่อไปนี้เอกชนที่มาลงนามจะเปิดโอกาสให้คุณพ่อสามารถลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแรกเกิดได้อีก 15 วัน โดยไม่จำเป็นต้องลาต่อเนื่อง ซึ่งอาจใช้เป็นการลาสะสม เพื่อความเหมาะสมของแต่ละครอบครัวเพื่อที่จะเลี้ยงดูบุตรให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ทั้งนั้น นโยบายนี้ยังอยู่ระหว่างยื่นพิจารณานะคะ ยังไม่มีผลบังคับใช้ แม่ก็หวังว่านโยบายนี้จะผ่านมติในเร็ววัน เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้มีเวลาใช้ร่วมกันพร้อมทั้งเรียนรู้การดูแลเด็กน้อยของเราได้มากขึ้นค่ะ
สรุปแม่ลาคลอดบุตรได้ แล้วคุณพ่อลาได้หรือไม่?? กี่วันกันนะ !!
สรุป ณ ตอนนี้สวัสดิการของประเทศไทยเรานะคะ สำหรับคุณแม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคม ได้รับวันลาคลอดจำนวน 98 วันค่ะ ส่วนคุณพ่อต้องเฉพาะที่อยู่ในระบบราชการ จะสามารถลาได้ 15 วันค่ะ
แต่อย่างที่บอกนะคะว่าตอนนี้รัฐบาลร่วมกับเอกชนได้มีนโยบายที่จะสนับสนุนคุณพ่อคุณแม่มือใหม่มากขึ้น นั่นก็คือ สนับสนุนให้คุณพ่อที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถลางานได้ 15 วัน ทุกคน ไม่เฉพาะราชการ และคุณแม่ จากเดิม 98 วัน เป็น 120 วันค่ะ เรามาร่วมส่งใจให้นโยบายนี้ผ่านร่วมกันนะคะ ไว้เจอกันใหม่บทความหน้าค่า
Write a comment