#5 สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ที่คุณแม่มือใหม่เตรียมคลอดควรรู้ (ฉบับอัพเดท 2021)

#5 สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ที่คุณแม่มือใหม่เตรียมคลอดควรรู้ (ฉบับอัพเดท 2021)

คลอด ประกัน สังคม

 

 

สวัสดีค่า วันนี้แอดมินรับบทตัวแทนหมู่บ้านของชาวทวงคืนสิทธิ์คนมีลูกกันค่ะ จะมีลูกทั้งที สวัสดิการรัฐที่มี ทุกคนควรรับทราบค่ะ ว่ามีอะไรกันบ้าง ซึ่งแอดมินได้ศึกษาและรับผลประโยชน์ไปหมดแล้วเรียบร้อย ฮ่าๆ พอมีลูกก็เป็นกูรูด้านต่างๆเกี่ยวกับแม่และเด็กไปเลยค่ะ แถมปีนี้ 2020 มีวิกฤตโควิดเข้ามาอีก

ทางประกันสังคมเพิ่งประกาศอุดหนุนเงินเพิ่ม เพื่อแบ่งเบาภาระคุณแม่ทั้งหลายอีกด้วย ดังนั้นขอเรียกแทนตัวเองว่า แม่แล้วกันนะคะ เพื่อความเป็นกันเอง ให้แม่ๆ อ่านเพลินๆ

 

5# สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ที่คุณแม่มือใหม่เตรียมคลอดควรรู้

อย่างที่ทราบกันดีว่าบทความนี้เกี่ยวกับประกันสังคม ดังนั้นแม่ๆทั้งหลาย หรือคนที่กำลังจะเป็นแม่เข้ามาอ่านต้องตรวจสอบตัวเองกันก่อนนะคะ ว่าเราได้อยู่ในระบบประกันสังคมเรียบร้อยแล้วหรือยัง รวมทั้ง

การจะได้รับสิทธิต่างๆที่กำลังจะบอกมาทั้ง 4 สิทธิ์นั้น จำเป็นจะต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมมาไม่ต่ำกว่า 5 เดือน (ภายในระยะเวลา15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร) ลองคำนวณกันดีๆว่าเรามีสิทธิได้รับสิทธิต่างๆนี้มั้ยนะคะ

สำหรับคุณผู้หญิงที่คำนวณแล้วว่าผ่านเกณฑ์ก็มากันต่อเลยค่า

1# ได้รับค่าฝากครรภ์ จำนวน ครั้ง

พอเรารู้ตัวว่ามีเจ้าตัวเล็กอยู่ภายในท้องของเราแล้วนั้น สิ่งแรกที่ควรทำคือไปฝากครรภ์เลยค่ะ เพื่อให้ได้รับคำแนะนำการดูแลและบำรุงที่ดีที่สุดจากคุณหมอที่มีความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะค่ะ

แต่การไปฝากครรภ์ก็มีค่าใช้จ่ายถูกมั้ยคะ ดังนั้นทางประกันสังคมจึงมีเงินสนับสนุน แถมปีนี้ยังเพิ่มมาให้อีกด้วย โดยปรับเพิ่มค่าฝากครรภ์ 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 1,500 บาท (เดิม 3 ครั้ง 1,000 บาท) โดยการไปหาคุณหมอแต่ละครั้งจะสามารถเบิกกับทางประกันสังคมได้ตามช่วงอายุครรภ์ด้านล่างเลยค่ะ

ครั้งที่ 1 : อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 500 บาท

ครั้งที่ 2 : อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

ครั้งที่ 3 : อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 300 บาท

ครั้งที่ 4 : อายุครรภ์มากกว่า 28 สัปดาห์แต่ไม่เกิน 32 สัปดาห์ จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

ครั้งที่ 5 : อายุครรภ์มากกว่า 32 สัปดาห์ถึง 40 สัปดาห์ขึ้นไป จ่ายในอัตราเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 200 บาท

2# ได้รับเงินคลอดบุตรต่อการคลอด 1 ครั้ง

ถ้าเราอยู่ในระบบประกันสังคม แค่เราคลอดลูก ก็ได้เงินมากอดแล้วค่ะ ปีนี้ ทางประกันสังคมสมทบพวกเราด้วยเงินจำนวน 15,000 บาท เลยทีเดียว เพิ่มจากปีเก่าๆ มาตั้ง 2,000 บาท

คลอด ประกัน สังคม

3# ได้รับสิทธิลาคลอด เพื่อดูแลลูกน้อยอย่างเต็มที่

ตามกฏหมายแรงงานเมื่อเราอยู่ในระบบประกันสังคม เราสามารถได้รับลางานได้สูงสุด จากเดิม 90 วัน  ปัจจุบันเพิ่มขึ้นให้อีกเป็น 98 วันเลยทีเดียว  ซึ่งวันลาคลอดนี้สามารถรวมถึงการลาเพื่อไปตรวจครรภ์ก่อนคลอดนับรวมใน 98 วันด้วย ดังนั้น ช่วงเวลา 3 เดือนนี้ แม่บอกเลยว่า ต้องรีบใช้เวลาให้คุ้มค่า

ถึงแม้ช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงเวลาที่ทรมานสำหรับแม่ๆทั้งหลายด้วยก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การต้องตื่นมาให้นมลูกและปั้มนมทุก 2 ชม. เพื่อที่จะมีสต็อกไว้พอให้ลูกกิน เมื่อเรากลับไปทำงานแล้วก็ตาม เพราะพอเรากลับไปทำงาน จะมานั่งปั้มนมทุก 2 ชม. ก็เกรงใจเพื่อนร่วมงานเสียอีก ดังนั้น ต้องกอบโกยช่วงเวลาอันล้ำค่านี้ให้มากที่สุดเลยค่ะ

4# ได้รับเงินเดือนถึงแม้จะลาคลอด!!!

ลาคลอดตั้ง 3 เดือน อยู่กับลูกวนไป แต่ก็ยังได้รับเงินเดือนอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นทางประกันสังคมก็มีข้อจำกัดนิดนึงนะคะ นั่นก็คือ เราจะได้รับเงินเดือนเป็นยอด 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย ซึ่ง เฉลี่ยสูงสุด 15,000 บาท นั่นก็คือถ้าคุณมีเงินเดือน มากกว่า 15,000 หรือ 15,000 พอดี คุณก็จะได้ 7,500 บาท

เป็นระยะเวลา 3 เดือน หรือรวมทั้งหมด 22,500 บาท นั่นเองค่ะ ถึงแม้จะไม่ได้รับเงินเต็มเดือน แต่แม่ๆทั้งหลายท่องไว้นะคะ นี่เราอยู่บ้านกับลูกยังได้เงินเลยอ่ะ ไม่ได้ไปงานให้เขา แต่ทำหน้าที่แม่ ก็ยังได้เงินเลยค่ะ

5# ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร จนลูกอายุถึง 6 ขวบ!!!

เมื่อคุณอยู่ในระบบประกันสังคม และเป็นคุณแม่มือใหม่ ไม่เพียงแต่ได้รับเงินสนับสนุนเพื่อตัวท่านเองต่างๆนาๆจาก ใน 4 ข้อ ข้างบนมาแล้ว ยังไม่จบค่ะ ทางประกันสังคมมีเงินสงเคราะห์บุตรอีก แถมปีนี้ อย่างที่บอกค่ะ

ทางประกันสังคมเข้าใจถึงความยากลำบากของทุกคนในยุควิกฤตเช่นนี้ จึงเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรจาก 600 บาท เป็น 800 บาท ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ขวบกันเลยทีเดียว แต่สำหรับเงินสงเคราะห์บุตรนี้ จำเป็นต้องไปลงทะเบียนเพื่อรับนะคะ เมื่อเราทราบถึง 5 สิทธิประโยชน์กันไปแล้ว เรามาดูวิธีรับสิทธิและเงื่อนไขต่างๆกันดีกว่าค่ะ

 

วิธีรับสิทธิและเงื่อนไขในการรับสิทธิประโยชน์ทั้ง 5

สำหรับวิธีรับสิทธิก็ไม่ยากเลยค่ะ นั่นก็คือ เตรียมเอกสารแล้วไปยื่นที่ สำนักงานประกันสังคมประจำจังหวัดทุกเขตทั่วทุกพื้นที่ประเทศไทยได้เลยค่า เรามาดูกันนะคะว่าเอกสารมีอะไรกันบ้าง

เอกสารที่ต้องใช้สำหรับขอเบิกเงินค่าคลอดบุตร

  1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน กองทุนประกันสังคม (สปส. 2-01)
  2. สูติบัตรของบุตร  ทั้งต้นฉบับและสำเนา หากคลอดลูกแฝดก็ให้นำสำเนาของลูกแต่ละคนมาด้วยนะคะ
  3. ใบเสร็จค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการคลอดบุตร
  4. สำหรับกรณีที่ผู้ชายเป็นคนขอใช้สิทธิ ต้องใช้ สำเนาทะเบียนสมรส หรือจะเป็นหนังสือรับรองของผู้ประกันตนกรณีไม่มีทะเบียนสมรสก็ได้ค่ะ
  5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากหน้าแรก (ประเภทออมทรัพย์) ที่เป็นชื่อของผู้ยื่นคำขอ ของธนาคารใดธนาคารหนึ่งในนี้ ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารธนชาต, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารอิสลาม, ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

แต่คุณแม่ขอแอบกระซิบนิดนึงค่ะ ตอนแม่คลอด ทางโรงพยาบาลทำเรื่องให้หมดเลยค่ะ ยกเว้นค่าสงเคราห์บุตรที่ต้องไปยื่นเอง ที่โรงพยาบาลตอนเราคลอดลูกเสร็จ เขาจะเอาเอกสารการขอทำเรื่องมาให้เรากรอก

พร้อมกับให้นำบัตรประชาชนพร้อมหน้า Book Bank ที่เป็นบัญชีออมทรัพย์ให้เขาค่ะ แค่นั้นเลย พอตอนเราออกจาก โรงพยาบาล ก็จะได้เอกสารยืนยันจากประกันสังคมว่า

จะได้รับเงินทั้งค่าคลอดและเงินเดือน รวมๆแล้วตอนนั้นแม่ได้ 22,500 + 13,000 เลยค่ะ แต่ตอนนั้นแม่ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้ซักเท่าไหร่เลยทำให้ไม่ได้ค่าฝากครรภ์ด้วย เพราะต้องเก็บใบเสร็จไปทำเรื่องย้อนหลังเพิ่มค่ะ

ต่อมาสำหรับสิทธิสงเคราะห์บุตร อันนี้ต้องไปลงทะเบียนเองค่ะ ดังนั้นเรามาเช็คเงื่อนไขกันก่อนนะคะ เพราะเงื่อนไขของสิทธิสงเคราะห์บุตรนี้มีความแตกต่างจากสิทธิสมทบค่าคลอดนิดหน่อยค่ะ

เงื่อนไขการรับเงินสงเคราะห์บุตร

  1. จะต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคม พร้อมทั้งมีการส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 12 เดือน (ภายใน 3 ปี หรือ 36 เดือน ก่อนจะได้รับเงินทดแทนหรือก่อนคลอดบุตร)
  2. ต้องมีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม)
  3. จะได้รับเงินเดือนละ 800 บาท/บุตรหนึ่งคน และจะได้คราวละไม่เกิน 3 คน
  4. เมื่อบุตรอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์, เสียชีวิต หรือยกเป็นบุตรบุญธรรมให้คนอื่น จะหมดสิทธิรับเงินทันที
  5. คุณจะหมดสิทธิรับเงินทันที เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง
  6. หากผู้ประกันตนที่ยื่นเรื่องเป็นทุพพลภาพหรือถึงแก่ความตาย ในขณะที่เด็กมีอายุแรกเกิดถึง 6 ปีบริบูรณ์ ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนต่อจนเด็กอายุครบ 6 ปีบริบูรณ์

ซึ่งแม่บอกเลยว่า ตอนนั้นแม่ไม่รู้เลยค่ะว่ามีสิทธินี้ที่เราควรจะได้รับ กว่าแม่จะไปทำเรื่องลงทะเบียนรับสิทธิ ลูกตัวน้อยก็ปาไปเกือบ 9 เดือนแล้วค่ะ Y_Y แถมไม่ได้ย้อนหลังด้วยนะคะ

ดังนั้น ศึกษากันไว้ก่อน ท่องไว้เลยค่ะ ออกจาก รพ. รีบไปทำเรื่องตอนที่ลูกยังอยู่ในเดือนแรกไปเลยค่ะ เราจะได้ใช้สิทธิประกันสังคมที่เราหมั่นส่งไว้ทุกเดือนได้อย่างคุ้มค่า คุ้มเม็ดเงินของเรากันค่ะ

เอาละคะ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประกันสังคมสำหรับคุณแม่มือใหม่ 101 จบไปแล้ว เรามาทวนกันดีกว่าค่ะ !!

สรุป 5# สิทธิประโยชน์จากประกันสังคม ที่คุณแม่มือใหม่เตรียมคลอดควรรู้ (ฉบับอัพเดท 2021) แบบสั้น

1. ได้รับค่าฝากครรภ์ จำนวน 5 ครั้ง
2. ได้รับเงินคลอดบุตรต่อการคลอด 1 ครั้ง
3. ได้รับสิทธิลาคลอด เพื่อดูแลลูกน้อยอย่างเต็มที่
4. ได้รับเงินเดือนถึงแม้จะลาคลอด
5. ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร จนลูกอายุถึง 6 ขวบ

สำหรับวันนี้แม่ขอตัวไปเลี้ยงลูกก่อนนะคะ วัยกำลังซน terrible two ตัวจริงเสียงจริง เริ่มออกฤทธิ์แล้วค่ะ ไว้พบกันใหม่บทความหน้าค่า

คลอดลูกLatest articles in the category